โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา ตาก จัดนิทรรศการแสดงผลงานและทดลองตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน U2T for BCG | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก

มทร.ล้านนา ตาก จัดนิทรรศการแสดงผลงานและทดลองตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน U2T for BCG

เผยแพร่เมื่อ : ศุกร์ 23 กันยายน 2565 โดย ชลาลัย กมลคุณาชัย จำนวนผู้เข้าชม 449 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

วันนี้ (23 ก.ย. 65) เวลา 17.00 น. ที่ลานอเนกประสงค์หนองมณีบรรพต (เกาะลอย) อำเภอเมือง จังหวัดตาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก จัดนิทรรศการทดลองตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน U2T for BCG ภายใต้โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG โดยนายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตากเป็นประธานในพิธีเปิดและเยี่ยมชมบูธนิทรรศการแสดงผลงานของชุมชน มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทนงศักดิ์ ยาทะเล ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้บริหาร บุคลากร ประชาชน และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรม

การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นการจัดแสดงผลงานที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก ส่งเสริมและสนับสนุนตามโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG หรือมหาวิทยาลัยสู่ตำบล (U2T for BCG) จำนวน 33 ตำบล แยกเป็นหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดตาก 28 ตำบล จังหวัดสุโขทัย 2 ตำบล และจังหวัดกำแพงเพชร 3 ตำบล ซึ่งแต่ละตำบลมีการเปิดรับบัณฑิตจบใหม่และประชาชนในพื้นที่เข้ามาร่วมเป็นทีม อว. โดยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย ภาคประชาสังคม หน่วยงานในพื้นที่ และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำหน้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของชุมชน โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตและบริการ การส่งเสริมการขายและการตลาด การพัฒนาสินค้าและบริการให้มีมูลค่าสูง การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และการยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการ รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชนรายตำบลเพื่อให้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์และตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบมีเป้าหมาย

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก ทำหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติการ อว. ส่วนหน้า จังหวัดตาก โดยมีภารกิจในการส่งเสริมให้เกิดแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีและวิถีชีวิตชุมชน โดยมุ่งหวังว่าชุมชนในแต่ละพื้นที่จะได้พัฒนาขีดความสามารถ ความเข้มแข็งต่อธุรกิจของตนเอง และทำหน้าที่เป็นศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตรของจังหวัดตาก (AIC) มีบทบาทหน้าที่รวบรวมองค์ความรู้เพื่อพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่ต่อไป

ภาพ/ข่าว: ชลาลัย กมลคุณาชัย







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา