โลโก้เว็บไซต์ ประวัติความเป็นมา | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก

ประวัติความเป็นมา


ประวัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก ตั้งอยู่เลขที่ 41/1 หมู่ 7 ถนนพหลโยธิน ตำบลไม้งาม อำเภอเมือง จังหวัดตาก มีเนื้อที่ประมาณ 230 ไร่ ห่างจากตัวเมืองตากประมาณ 2 กิโลเมตร จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2481 มีประวัติความเป็นมา ดังนี้


โรงเรียนประถมอาชีพช่างไม้
        
จากบันทึกจดหมายเหตุรายวันของครูใหญ่ นายถาด  คำพุฒิ “วันที่ 17 สิงหาคม 2481 เป็นวันเปิดโรงเรียนประถมอาชีพช่างไม้ ได้อาศัยโรงเรียนประจำจังหวัดตาก โรงเรียนตากพิทยาคม เรียนไปพลางก่อน มีนักเรียนมาเรียน 7 คน ให้นายฉาย  เชื้อปรางค์ เป็นครูน้อย เป็นผู้สอนภาคปฏิบัติ วันที่ 19 สิงหาคม 2481 เริ่มสอนทางทฤษฎีช่างและวิชาสามัญ ตอนบ่ายปฏิบัติงาน”



โรงเรียนการช่างตาก

พ.ศ. 2484

ได้ย้ายสถานที่ไปตั้งที่บริเวณวัดเวฬุวัน(วัดไผ่ล้อม) ถนนมหาดไทยบำรุง ตำบลระแหง อำเภอเมือง จังหวัดตาก ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเทศบาก 1 (กิตติขจร) มีอาคารเรียนไม้ 2 ชั้น หนึ่งหลัง ข้างบนใช้เป็นหอพักนักเรียนประจำ มีนักเรียนประมาณ 80 คน ชั้นล่างเป็นห้องทำงานครู ห้องอาจารย์ใหญ่ และเป็นห้องเรียน 1 ห้อง มีโรงฝึกงานเป็นอาคารไม้ถาวรอยู่สามหลัง มีโรงฝึกงานแบบชั่วคราว โครงหลังคาเป็นไม้มุงด้วยหญ้าคา (แฝก) อยู่ 2 หลัง รั้วด้านหน้าทิศตะวันตกและด้านหลัง(ทิศเหนือ) เป็นรั้วลวดหนาม และปลูกต้นพู่ระหงหนาทึบ มีต้นสนเป็นแนวยาวคู่กับพู่ระหง ด้านหน้าโรงฝึกงานมีบ้านพักครู บ้านพักภารโรง โรงครัว โรงอาหาร เป็นแถวยาวเรียงกันไป ตรงมุมหลังด้านทิศใต้เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องสูบน้ำและหอสูงสำหรับเก็บน้ำ มีครู 10 กว่าคน มีนักเรียน 400-500 คน กรมอาชีวศึกษาได้อนุมัติให้โรงเรียนประถมช่างไม้ ปรับปรุงและขยายการศึกษาให้สูงขึ้น ยกฐานะเป็นโรงเรียนการช่างตาก


พ.ศ. 2501

อาจารย์วีรพล ส สุจริตจันทร์ พร้อมคณะครูลงความเห็นว่า ควรใช้พื้นที่โรงเรียนเกษตรกรรมตากเก่า ซึ่งได้ล้มเลิกกิจการไปแล้วให้เป็นสถานที่ตั้งโรงเรียนการช่างตากแห่งใหม่ อยู่ที่บ้านหนองกะโห้ ตำบลไม้งาม อำเภอเมือง ติดถนนพหลโยธิน มีเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก ในปัจจุบัน โดยกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดทำผังแม่บท วันที่ 2 มิถุนายน 2501 จึงได้ย้ายจากสถานที่เดิมออกมาตั้งที่ปัจจุบัน


พ.ศ. 2503

โรงเรียนการช่างตากได้รับการส่งเสริมเพื่อเตรียมเปิดสอนวิชาช่างอุตสาหกรรม ตามโครงการ ส.ป.อ. (สนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียอาคเนย์) โดยได้รับงบประมาณดำเนินการสร้างโรงฝึกงานอีก 5 หลัง และปรับปรุงโรงฝึกงานเดิม รวมทั้งฝึกอบรมครูช่างแผนกต่าง ๆ จัดส่งเครื่องมือและติดตั้งเครื่องจักร ให้การช่วยเหลือเกี่ยวกับโครงการสอน การแนะแนว การจัดทำระเบียนสะสม การติดตามผล เป็นต้น และได้อัญเชิญองค์พระวิษณุกรรม ขึ้นประดิษฐาน ณ บริเวณหน้าอาคาร 1 (ปัจจุบันเป็นที่ก่อสร้างอาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์)


พ.ศ. 2504

เปิดสอนช่างอุตสาหกรรม ประโยคอาชีวะชั้นสูง หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ในปัจจุบัน จำนวน 5 แผนกวิชา คือแผนกวิชาช่างก่อสร้าง แผนกวิชาช่างกลโรงงาน แผนกวิชาช่างเชื่อมและโลหะแผ่น และแผนกวิชาช่างไฟฟ้า โดยอธิบดีกรมอาชีวศึกษา ศาสตราจารย์พงษ์ศักดิ์  วรสุนทโรสถเป็นประธานเปิดอาคารและโรงฝึกงาน ปีต่อมาเปิดสอนช่างวิทยุและโทรคมนาคม อีกแผนกวิชาหนึ่ง


วิทยาลัยเทคนิคตาก




พ.ศ. 2509

กรมอาชีวศึกษา ได้ทำการยุบโรงเรียนการช่างสตรีตาก ให้โอนเข้ามาอยู่กับโรงเรียนการช่างตาก เพื่อจะยกระดับเป็นวิทยาลัยเทคนิคต่อไป
พ.ศ. 2510 กรมอาชีวศึกษา ยกฐานะโรงเรียนการช่างตาก เป็น วิทยาลัยเทคนิคตาก โดยมีการเปิดสอนในระดับประโยคอาชีวะชั้นสูง (ประกาศนียบัตรวิชาชีพ – ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสุง (ปวส.) แผนกวิชาช่างก่อสร้าง วันที่ 16 มกราคม 2510 โดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี จอมพลถนอม  กิตติขจร เป็นประธานทำพิธีเปิดวิทยาลัยเทคนิคตาก ในปีนี้ได้มีการอัญเชิญองค์พระวิษณุกรรม จากหน้าอาคาร 1 มาประดิษฐานบริเวณหน้าโรงหล่อโลหะ เป็นสถานที่ประดิษฐานจวบจนปัจจุบัน ในปีนี้ได้จัดการเรียนการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงรวม 7 แผนกวิชา วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา


พ.ศ. 2518

รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา เพื่อผลิตครูอาชีวศึกษาระดับปริญญา ให้นักเรียนอาชีวศึกษาได้มีโอกาสศึกษาต่อทั้งระดับต่ำกว่าปริญญาและระดับปริญญา ทำการวิจัยส่งเสริมการศึกษาด้านวิชาชีพ


พ.ศ. 2520

ได้โอนกิจการของวิทยาลัยเทคนิคตากรวมกับวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา เป็นวิทยาเขตเทคนิคตาก
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตตาก


พ.ศ. 2531

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล” ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการพระบรมมหาราชวัง ที่ รล 0003/16942 ลงวันที่ 15 กันยายน 2531 และเปลี่ยนชื่อวิทยาเขตเทคนิคตากเป็น วิทยาเขตตาก ยังคงจัดการศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส.


พ.ศ. 2534

เปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี ครุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ภาคพิเศษ ต่อมาเปลี่ยนเป็นภาคสมทบ


พ.ศ. 2537

เปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี ครุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ภาคสมทบ


พ.ศ. 2538

เปิดการเรียนการสอน ครุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล  ปีต่อมาได้เปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีภาคปรกติและภาคสมทบ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม คณะบริหารธุรกิจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะคหกรรมศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์


พ.ศ. 2541

ยกเลิกการจัดการเรียนการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ จึงเหลือการจัดการศึกษาระดับ ปวส. และระดับปริญญาตรี

พ.ศ. 2548   

รัฐบาลตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2548  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงประปรมาภิไธย โปรดเกล้าพระราชทานพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล โดยให้มีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จำนวน 9 มหาวิทยาลัย วิทยาเขตตาก เป็นสถานศึกษาในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตามมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548


ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon