เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 2 มีนาคม 2564 โดย ชลาลัย กมลคุณาชัย จำนวนผู้เข้าชม 1350 คน
วันที่ 2 มีนาคม 2564 ที่สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานตาก นางอังคณา สุขเกษม มีเกษ ผู้อำนวยการกองบริหารทรัพยากร พร้อมเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก ร่วมพิธีถวายราชสักการะ เนื่องในวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2564 โดยนายพงศ์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก นำส่วนราชการร่วมประกอบพิธีวางพานพุ่มดอกไม้ถวายราชสักการะและกล่าวถวายราชสดุดีแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมมอบเครื่องหมายผู้ประกอบกิจการซึ่งจ้างงานผู้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถให้แก่สถานประกอบกิจการ ได้แก่ บริษัท ออโตแซทคอม จำกัด และ บริษัท ต.พาณิชย์ แซท แอนด์ ซีซีทีวี จำกัด
วันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ถือเป็นอีกหนึ่งวันที่มีความพิเศษต่อช่างฝีมือแรงงานไทย เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านงานช่าง ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และทรงใช้ทักษะและความถนัดในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ด้วยพระองค์เองเป็นจำนวนมาก อาทิ กังหันน้ำชัยพัฒนา การต่อเรือใบเล็กลงแข่งขันกีฬาแหลมทองในปี 2510 และสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ และเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันฝีมือช่างแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ณ ลุมพินีสถาน โดยกรมแรงงานสังกัดกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นเป็นเจ้าภาพ การเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้นแสดงให้เห็นถึงพระราชหฤทัยในการเล็งเห็นถึงความสำคัญของการช่างไทย ได้มีพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า
"...ช่างทุกประเภท เป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของบ้านเมืองและของคนทุกคน เพราะตลอดชีวิตของเรา เราต้องอาศัยและใช้บริการหรือสิ่งต่างๆ ที่มาจากฝีมือของช่างอยู่ทุกวี่ทุกวัน ผู้เป็นช่างจึงสมควรได้รับความเอาใจใส่ สนับสนุนจากทุกๆ ฝ่าย ยิ่งในสมัยปัจจุบัน วิทยาการทุกอย่างเจริญก้าวหน้า ยิ่งจำเป็นต้องส่งเสริมมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้ช่างที่มีความสามารถสูง ให้มีสิ่งใช้สอยที่มีคุณภาพดี และเพียงพอกับความต้องการ ในการส่งเสริมนั้นมีปัญหาอันควรจะได้พิจารณาช่วยเหลืออยู่สามประการ ประการแรก ได้แก่ ปัญหาเรื่องการให้ความรู้ทางหลักวิทยาการ และความรู้ทางการออกแบบ ประการที่สอง ได้แก่ ปัญหาเรื่องฝีมือ ซึ่งต้องปรับปรุงให้มีความประณีตและประสิทธิภาพได้มาตรฐานจริงๆ ประการที่สาม ได้แก่ ปัญหาเรื่องการจัดหางานและหาตลาด เพื่อช่วยให้ช่างได้มีงานทำ มีตลาดที่จะส่งสินค้าที่ผลิตได้ไปจำหน่าย การช่วยเหลือทั้งสามประการนี้จะต้องการทำให้สอดคล้องกันไป เพื่อให้ช่างมีรายได้และผลกำไร สำหรับนำมาเป็นทุนรอนสร้างฐานะและความก้าวหน้า ข้าพเจ้าใคร่ขอฝากความคิดทั้งนี้ไว้เป็นแนวปฏิบัติของท่านทั้งหลายต่อไป..."
ด้วยพระปรีชาทางด้านช่างของพระองค์ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติถวายพระราชสมัญญานามว่า “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และได้น้อมนำมาเป็นแรงดลใจให้ทุกภาคส่วนได้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีมาตรฐาน เพื่อพัฒนาคน เพื่อพัฒนาชาติ เพื่อเทิดพระเกียรติที่พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถทางการช่างและเป็นแบบอย่างและแรงใจต่อแรงงานไทยทุกคน และได้ดำเนินการจัดงานวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติขึ้นในวันที่ 2 มีนาคมของทุกปี
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา