เผยแพร่เมื่อ : ศุกร์ 19 สิงหาคม 2565 โดย ชลาลัย กมลคุณาชัย จำนวนผู้เข้าชม 812 คน
วันที่ 18 สิงหาคม 2565 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมทองกวาว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือและการเสวนาวิชาการ "โลจิสติกส์ข้ามแดนเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ" กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานตาก บริษัท ทากาโน่ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท สยาม ออโตเมชั่น เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด วิทยาลัยเทคนิคตาก และวิทยาลัยการอาชี่พบ้านตาก โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทนงศักดิ์ ยาทะเล ผู้ช่วยอธิการบดี และผู้แทนหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดตากร่วมเป็นสักขีพยาน จากนั้นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทนงศักดิ์ ยาทะเล ผู้ช่วยอธิการบดี ร่วมเสวนาวิชาการ เรื่อง โลจิสติกส์ข้ามแดนเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ มีผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ในจังหวัดตากร่วมเสวนาในประเด็นสถานการณ์ปัจจุบันและปัญหาที่ประสบเกี่ยวกับโลจิสติกส์ในจังหวัดตากและโลจิสติกส์ข้ามแทน แนวทางและนโยบายภาครัฐที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์และความต้องการในการสนับสนุน และโอกาสในการเติบโตและการพัฒนาด้านโลจิสติกส์
บันทึกข้อตกลงและการเสวนาวิชาการโลจิสติกส์ข้ามแดนเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ จัดขึ้นภายใต้การดำเนินงานโครงการปฏิรูปมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชั้นนำระดับสากลเพื่อชุมชน ซึ่งเป็นการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและการผลิตกำลังคนขั้นสูงด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อการขับเคลื่อนการพลิกโฉมสถาบันอุดมศึกษาตามกลุ่มยุทธศาสตร์ ภายใต้โปรแกรมที่ 16 การปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (Reinventing University) ประจำปีงบประมาณ 2565 ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก ได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินกิจกรรม "การพัฒนากำลังคนด้านโลจิสติกส์ข้ามแดน" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนากำลังคนที่เกี่ยวข้องทั้งบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย นักศึกษา ผู้ประกอบการ และบุคคลทั่วไปที่สนใจด้านโลจิสติกส์และการขนส่ง รวมถึงการจัดตั้งหน่วยเรียนรู้ ศูนย์ฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานกำลังคนด้านโลจิสติกส์ข้ามแดนและการขนส่ง เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีทักษะสูงและยกระดับฝีมือแรงงานของบุคลากรในสถานประกอบการและบุคคลทั่วไปให้มีสมรรถนะสูงขึ้น โดยจะมีดำเนินกิจกรรมการพัฒนาทักษะควบคุมยานยนต์บรรทุกขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ การพัฒนาทักษะการซ่อมบำรุงยานยนต์บรรทุกและเครื่องจักรกลหนัก การพัฒนาทักษะและคุณวุฒิวิชาชีพด้านโลจิสติกส์ของบุคลากรในมหาวิทยาลัย การพัฒนาทักษะเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการโลจิสติกส์ข้ามแดนสำหรับผู้ประกอบการและแรงงาน การส่งเสริมทักษะบัณฑิตสู่การเป็นผู้ประกอบการและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบอาหารและเครื่องดื่มตามแนวเศรษฐกิจพิเศษ และการศึกษาความพร้อมและความต้องการด้านระบบโลจิสติกส์ข้ามแดน
ภาพ/ข่าว: ชลาลัย กมลคุณาชัย
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา